ปกติไม่ค่อยกล้าให้ดาวหนังสือเล่มไหน เพราะค่อนข้างกลางๆ ไม่ชอบไม่ชังเลยไม่แสดงความเห็นดีกว่า แต่เล่มนี้โคตรชอบ เป็นรวมเรื่องสั้นแบบสั้นๆ ปัญหาชีวิตมนุษย์เดินดินแต่เล่าแบบอัศจรรย์พันลึก ตบท้ายแต่ละเรื่องได้สะเด็ดถึงกับต้องพึมพำว่า เชี่ยย อยู่บ่อยครั้ง ขนาดว่าผ่านไปหลายเรื่องก็ยังเดามุกล่วงหน้าไม่ได้ เก่งงง
ซื้อมาตอนหนังกำลังดังแต่ไม่ได้ไปดู อ่านแล้วเห็นภาพวิถีชีวิตและวัฒนธรรมผู้คนในพม่า (ที่มีความหลากหลายเกินกว่าจะสรุปว่าเป็น “คนพม่า” แบบคลุมๆ) เห็นความสัมพันธ์ทางการเมือง การคัดง้างอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าที่เป็นเจ้าฟ้าแคว้นต่างๆ ความสับปลับของทหาร มองในเชิงหนังสือประวัติศาสตร์ก็อ่านเพลินดี ถ้าจะเอาความสนุก เรื่องรักโรแมนติก ก็คือนิ่งมากๆ มีการสลับฉากเล่าเรื่อง แต่ไม่ได้เร้าใจขนาดนั้น มองเป็นบันทึกชีวิตก็แล้วกัน
อ่านประโลมใจ ถ้าอยู่ในช่วงเวลาอื่นของชีวิตอาจจะอ่านแล้วรำคาญก็ได้ แต่เผอิญว่าการที่ตัวละครบ่นเพ้อเรื่องความหมายของชีวิต การไม่เห็นคุณค่าตัวเอง การปลดปล่อยปีศาจร้ายในตัว ฯลฯ มันโต้ตอบกับความหมกมุ่นภายในของเราได้ดี ช่วงเวลาที่อยากจะอ้าปากระบายเรื่องนี้แต่ก็เกรงใจคนรอบข้าง ได้แต่นิ่งเงียบตีมึน หนังสือเล่มนี้ก็อยู่เป็นเพื่อนได้เหมือนกัน
ชอบที่นักเขียนรีเสิชข้อมูลอะไรมาใส่ไว้บ้าง จะเยอะไปหรือไม่เนียนก็แล้วแต่คนชอบนะ ;)
ตอนแรกซื้อเพราะรู้จักคนแปล ไม่ได้คิดว่าจะเป็นแนวที่ชอบอ่านเท่าไหร่ (เพราะเป็นเรื่องแมวๆ?) ชอบแมวแต่ไม่ได้อยากอ่านเรื่องแมวน่ะ แต่พออ่านปุ๊บ เอ้ย น่ารัก รู้สึกเหมือนเข้าไปนั่งในบ้าน มองดูชีวิตประจำวันแสนธรรมดาแต่ละเมียด ใส่ใจรายละเอียดของคนเขียนซึ่งก็เป็นนักวาดภาพด้วย เห็นตัวเองในมุมที่ทำหายไปนาน อ่านแล้วรู้สึกใจสงบและอยากลงมือเขียนหนังสืออีก ในแบบของตัวเอง
Yona Ko สาวเกาหลีลูกจ้างบริษัทท่องเที่ยวเชิงหายนะทัศนา ได้รับข้อเสนอจากบริษัทให้ไปทริปนึง เป็นการลาพักร้อนและทริปธุรกิจไปในต้วหลังเธอเจอแรงกดดันจากเจ้านาย ปรากฏว่าทริปสุดห่วยนั้นกลายเป็นโหมโรงของหายนะที่เพิ่งกำลังจะถูกสร้างขนานแท้ของเกาะ Mui ในเวียดนาม (น่าจะเป็นสถานที่สมมติ) วิทยาศาสตร์ของมหันตภัยทางธรรมชาติและจำนวนผู้เสียชีวิตโดยประมาณถูกคำนวณมาเสร็จสรรพเพื่อตอบสนองธุรกิจท่องเที่ยวของนายทุนหน้าเลือด สิ่งที่ Yona Ko ต้องตัดสินใจ คือ เธอจะร่วมมาอยู่ในแผนการด้วยหรือไม่ เพื่ออนาคตทางการงานที่ดีกว่าเดิมซึ่งรออยู่ในเกาหลี ถ้าสิ่งที่เธอทำไม่ใช่การฆ่าคนโดยตรง แค่เพียงรู้เห็นว่ามีแผนการที่จะทำให้คนจำนวนมากต้องตายจริง เพื่อแลกกับแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ?
เล่าความสัมพันธ์กึ่งมิตร-ศัตรูระหว่างสยามกับอ๋องตระกูลเหงวียนที่มีอิทธิพลปกครองเวียดนามตอนใต้ในขณะนั้น คือช่วงธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์ ความพิเศษของเนื้อหาเล่มนี้คือการศึกษาข้อมูลผ่านหลักฐานเวียดนาม บางส่วนเทียบเคียงกับเนื้อหาฝั่งไทย โดยมีจุดศูนย์กลางการเล่าเรื่องอยู่ที่ฮาเตียน เมืองท่าของชาวกวางตุ้งที่สยาม กัมพูชา เวียดนาม สลับกันมีอิทธิพลเหนือหรือเข้าแทรกแซงกันคนละนิดละหน่อย
หนังสือสนุกดีเพราะมีข้อมูลที่ไม่เคยรู้เต็มไปหมด ในฐานะคนที่สนใจประเทศเวียดนามแบบผิวๆ อย่างเราซึ่งไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์เจาะลึกมาก่อน ได้เห็น ‘ข้อเท็จจริง' จากฝั่งเวียดนามซึ่งเราจะมองว่าเป็นโลกทัศน์ของเขาก็ได้ และผู้เขียนซึ่งเป็นนักเขียนสารคดีได้นำงานวิชาการที้ตนเขียนขึ้นมาเป็นวิทยานิพนธ์นี้มาปรับปรุงให้อ่านง่ายขึ้นในระดับผู้อ่านทั่วไป
อย่างไรก็ตามผู้อ่านอาจพบความหนืดหน่วงช่วงต้นของหนังสือที่ผู้เขียนเล่าว่าหลักฐานเวียดนามที่นำมาศึกษานั้นคืออะไรบ้าง แต่ก็เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากในทางวิชาการ เพียงแต่คิดว่าใครจะข้ามไปอ่านตัวเนื้อหาหลักก่อนก็ไม่น่าเสียหายอะไร
อ่านยาก เป็นเล่มบางๆ ที่พยายามเล่าให้ครอบคลุมทั้งนักแต่งนิยายและกวีในยุค 1900-2000 ทำให้บางทีก็โผล่มาแค่ชื่อนักเขียน ชื่อเรื่อง และธีมคร่าวๆ ของคนคนนั้น อ่านไปก็อาจลืมได้ทันที เพราะไม่มีแก่นอะไรให้จำ แต่ก็ดีในแง่ที่ให้เห็นภาพรวมของ 4 ยุคที่หนังสือเล่มนี้แบ่งออกมา ตั้งแต่ 1. ยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามาท้าทายค่านิยมขงจื่อ 2. ยุคที่ตกอยู่ใต้อาณานิคมญี่ปุ่นและยุคแห่งการแบ่งแยกเหนือ-ใต้ 3. ยุคเศรษฐกิจรุ่งเรืองที่มาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำสูง 4. ยุคแห่งบริโภคนิยมที่หัวข้อบทกวีอาจมาจากฟาสต์ฟู้ด
ดูเหมือนเหล่านักเขียนเกาหลี (ในสายตาของผู้ศึกษาวรรณกรรมเกาหลีในเล่มนี้) จะสร้างผลงานของตัวเองขึ้นมาอยู่ในเชือกชักเย่อเส้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเส้นเชือกที่ต้องเลือกระหว่างอนุรักษนิยมและเสรีนิยม เลือกระหว่างปัจเจกหรือส่วนรวม เลือกระหว่างจิตวิญญาณธรรมชาติหรือสังคมเมืองและอุตสาหกรรมที่แปดเปื้อน เลือกจะไหลไปตามทุนนิยมหรือยืนหยัดในมนุษยนิยม ฯลฯ
อาจไม่ใช่ความตั้งใจของนักเขียน แต่เป็นเพียงวิธีการศึกษาของนักวิชาการที่พยายามนำผลงานนี้ไปเป็นตัวแทนในความขัดแย้งทางอุดมการณ์ต่างๆ ของสังคมเกาหลี เพื่อให้เรารู้สึกสนุก แต่น่าเสียดายที่การดร็อปชื่อนักเขียนมาติดๆ กัน ไม่ค่อยช่วยให้มันบันเทิงเลย เพราะเราจะจำชื่อเหล่านั้นไม่ได้แน่นอน
ยังดีที่มีเรื่องย่อของนิยายเรื่องเด่นๆ ของเกาหลีให้เราได้ชิมพล็อตแปลกๆ บ้าง
อ่านแล้วเครียดคิ้วขมวด ฉายภาพชีวิตไร้ทางเลือกของเด็กสาวลูกครึ่งเกาหลี-แอฟริกัน ผลผลิตจากทหารจีไอและโสเภณีเกาหลีช่วงสงครามเกาหลี ที่สุดท้ายก็เหมือนจะต้องวนเวียนอยู่ในคลับบาร์ของ “อเมริกันทาวน์” ย่านที่มีทั้งการหลั่งไหลของเงินอู้ฟู้จากการซื้อความบันเทิงเหล่าทหาร ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งรวมชะตากรรมอันสิ้นหวังของเด็กที่เกิดมาเพื่อขายตัวหรือไม่ก็เป็นแมงดา ต่างฝันถึงการไปอเมริกา ประเทศที่ใครๆ ก็บอกว่า “ดีกว่า” ไม่ว่าจะด้วยการสะสมเงินจากการทำงานหรือหวังรักแท้จากชายชาวต่างชาติ บ้างหวังไปพบหน้าพ่อที่สัญญาลมๆ แล้งๆ ว่าวันหนึ่งจะเป็นวันของเรา แต่ตอนนี้คนขาวยังคงเหยียดผิวอยู่จึงพาเจ้าไปอยู่ด้วยไม่ได้ / ถ้ามองเป็นการเรียนรู้บรรยากาศเศษซากสังคมที่โดนสงครามเข้ากระทบ ก็สนุกดี แต่ในฐานะนิยาย หดหู่มาก
นิยายอิงประวัติศาสตร์ คาบสมุทรเกาหลีภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ชีวิตในบ้านที่เหมือนอยู่ท่ามกลางค่ายทหาร โดนสอดส่อง เรียกให้รายงานตัว ปล้นทรัพย์สินไปช่วยกองทัพยามสงครามในนามของการเสียสละเพื่อจักรพรรดิ นิยายเล่าผ่านมุมมองของเด็กหญิงชายวัย 10 กว่าขวบ ลูกของชนชั้นมีการศึกษา น้ำเสียงเลยดูซอฟต์ ความลำบากเป็นเรื่องจริงสำหรับพวกเขา แต่ความโหดร้ายถูกเล่าแบบเป็นเรื่องไกลตัว (ได้ยินมาว่า... บลาๆๆ)
บางคนเลยมองว่าเล่มนี้โลกสวยไปหน่อย มองอเมริกาดีงามเกินจริง สร้างบทบาทชาติตะวันตกในฐานะผู้มาช่วยปลอดปล่อยคนเกาหลีจากความโหดร้ายของญี่ปุ่น โดยเล่าแบบอ้อมแอ้มว่ามีระเบิดสองลูกที่ญี่ปุ่นทำให้จบสงคราม
ถึงจะถูกวิจารณ์เรื่องความสมจริง (ทั้งที่ผู้เขียนทำการบ้านเรื่องประวัติศาสตร์มาเยอะ) แต่เป็นหนังสือที่ดีที่ใช้ตั้งคำถามกับความเป็นชาติในเจเนอเรชันที่เกิดมาก็โตใต้การปกครองของญี่ปุ่นไปแล้ว “ฉันจะเขียนความคิดคนเกาหลี ลงไปด้วยภาษาญี่ปุ่นได้หรือไม่?”
คู่ชายหญิงทำงานในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แบ่งเป็นอาคารติดๆ กัน (คงเป็นอารมณ์ฟอร์จูน พันทิพย์) นางเอกทำงานเป็นผู้ช่วยช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า พระเอกเป็นลูกมือช่างเชื่อม ความแฟนตาซีของเรื่องที่ดูเรียลลิสติกนี้คือ คนทุกคนจะมีโอกาสประสบเหตุการณ์ที่เงาของตัวเองมีชีวิตขึ้นมา แรกเริ่มจะรู้สึกหวาดกลัว แต่ก็อยากตามมันไป แล้วมันจะเริ่มมีชีวิตกลืนกินตัวจริงไปเรื่อยๆ จนตาย นึกแล้วก็เหมือนอาการป่วยไข้ทางจิต ที่ถูกหยิบมาเล่าในบริบทสังคมแบ่งชนชั้นแบบหนังเรื่องปรสิต อ่านเพลินๆ แปลอังกฤษแบบใช้ภาษาง่ายดี ลื่นไหล (อ่านรีวิวเต็มๆ ที่ https://koreanlit.home.blog/2020/03/14/one-hundred-shadows-book-review/)
ชื่อเรื่องทำให้คิดว่าเป็นสายเทคโนโลยีจ๋า จริงๆ แล้วมันสำรวจเรื่องเศรษฐศาสตร์มากกว่า ซึ่งสนุก เพราะมันกระทบกับเราเต็มๆ จากที่เคยคิดแค่ว่าหุ่นยนต์จะช่วยลดต้นทุน และให้บทเรียนกับคนที่ไม่ปรับตัว แต่ผลประโยชน์จากการลดต้นทุนนั้นตกอยู่กับนายทุน (ก็ใช่น่ะสิ) และผลประโยชน์นั้นอาจไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อตำแหน่งงานจำนวนมากหายไป ผู้คนก็ไม่มีรายได้มาจับจ่ายสินค้า ผลิตมา ใครจะซื้อ
ฟังดูเชยๆ แต่สนุกดีนะ ทำให้คิดอีกมุมว่า เออว่ะ หุ่นยนต์พัฒนา แล้วเราไปอยู่ตรงไหน บางคนแย้ง ก็ re-skill หาโอกาสใหม่ในตลาดงานที่เปลี่ยนไป แต่ความเป็นจริง กลุ่มคนที่โดนคุกคามระลอกแรก มักเป็นคนที่หาโอกาสไปเพิ่มพูนทักษะได้ยากอยู่แล้ว เอาตัวรอดในตอนนี้ให้ได้ก่อน
แต่ๆๆ หากเราไม่อยากทำตัวเป็นพวกเฉิ่ม ชูป้ายไม่เอาหุ่นยนต์ เราควรแก้ปัญหาเรื่องนี้ยังไงดี นี่คือสิ่งที่หนังสือพยายามสำรวจ
เนื้อหามีรายละเอียดเยอะกว่านี้มาก มีกราฟ มีความเห็นหลายๆ ฝ่าย หากอยากถกเถียง ขอชวนอ่าน
ดีงามจัง เหมือนได้เรียนปรัชญาอีกครั้ง (เนื้อหาประเด็นทางปรัชญาที่ยกมาพูดถึงใกล้เคียงกับตอนเรียน general philosophy มาก) แต่ว่าขยายไปสู่การใช้ชีวิตจริงๆ การตัดสินใจให้คุณค่าของเราต่อสิ่งต่างๆ เหมือนกับว่าเรื่องพวกนี้พูดกันในทางทฤษฎีมันก็พูดกันได้เรื่อยๆ แหละ ต่างคนต่างพูดเสนอไอเดียกันไป แต่พอต้องดึงมาใช้ในเรื่องทางการเมือง การตัดสินคดี การจัดการสวัสดิการ สุดท้ายเราก็หลีกเลี่ยงความขัดแย้งพวกนี้ไม่ได้ สำคัญก็คือเวลาที่เราพูดว่าอย่าเอาเรื่องศาสนามาปะปนกับการถกเรื่องนี้ มันตัดได้จริงๆ หรือ รึว่าจริงๆ มันต้องอยู่เป็นฐานในการถกเถียงร่วมกันในสังคม เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เปลี่ยนมุมมองทางความคิดของเราเลย อะไรทื่อๆ เกินไปก็เหลามันหน่อย จะได้คุยกันรู้เรื่อง ไม่ว่าจะบอกว่าตัวเองเป็นคอนเซอร์เวทีฟหรือลิเบอรัล ฯลฯ
กลับไปสู่จัดตั้งต้นว่าเราจะเอาชนะหรือจะเอาความยุติธรรมจริงๆ
เนื้อเรื่องอ่านเพลิน น่าติดตามดี ส่วนใหญ่จะมีผู้หญิงเป็นตัวละครหลัก และเกี่ยวข้องกับประเด็นความสัมพันธ์ เช่น คู่รัก แม่ลูก ครูนักเรียน ฯลฯ ดึงวัฒนธรรมและฉากเวียดนามมาใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่มีติดๆ อยู่บ้างบางเรื่องที่จบแบบทะแม่งๆ
เรื่องที่ชอบที่สุดน่าจะเป็นเรื่อง True Story เล่าเรื่องคู่รักชาวเวียดนามมาเที่ยวหนองคายแล้วกลัวคนท้องถิ่นหลอกไปฆ่าข่มขื่น ได้เห็นภาพสะท้อนกลับว่าเพื่อนบ้านก็มีสิทธิ์ระแวงเราเหมือนกันนะ